“ดีป้า” เดินหน้าส่งเสริมการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล

posted in: Blog | 0

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เดินหน้าส่งเสริมการยื่นขอสิทธิบัตรด้านดิจิทัลต่อเนื่อง ล่าสุดผ่านความเห็นชอบ 5 โครงการยื่นขอรับการสนับสนุนผ่านมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการจัดทำหรือยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ประเภทสิทธิบัตรดิจิทัล ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ยันสานต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทของทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงขั้นตอนการขอจดสิทธิบัตรดิจิทัล พร้อมเปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาสามารถยื่นขอรับการส่งเสริม เพื่อกระตุ้นการสร้างสิทธิบัตรด้านดิจิทัล และเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ของ ดีป้า คือ การเสนอแนะ เร่งรัด ติดตามการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา โดยที่ผ่านมา ดีป้า มุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทของทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิบัตร พร้อมส่งเสริมให้เกิดการยื่นขอจดสิทธิบัตรด้านดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนา หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยความร่วมมือกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

“การเดินหน้าให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และส่งเสริมให้เกิดการยื่นขอจดสิทธิบัตรด้านดิจิทัลส่งผลให้มีโครงการจากบริษัทต่าง ๆ ยื่นขอรับการสนับสนุนผ่านมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการจัดทำหรือยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa Digital Intellectual Property Voucher) ประเภทสิทธิบัตรดิจิทัล ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุน 7 โครงการ ปี 2562 มีโครงการได้รับการสนับสนุน 6 โครงการ ขณะที่ปี 2563 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุนมีมติเห็นชอบโครงการที่ยื่นขอรับการสนับสนุนผ่านมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการจัดทำหรือยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล จำนวน 5 โครงการ” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

สำหรับโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย

  1. โครงการระบบจัดการอีเวนต์ครบวงจร และ Virtual Event โดย บริษัท เดอะ ไวท์ เลเบิลส์ จำกัด
  2. โครงการ วิซิเบิ้ล – โปรแกรมบริหารงานขายอัจฉริยะ โดย บริษัท ไฟวลูป จำกัด
  3. โครงการเมตตาแพลตฟอร์ม (METTA Platform) โดย บริษัท มอสโทริ จำกัด
  4. โครงการเครื่องเพื่อการสื่อสารและดูแลสุขอนามัย (มือ) อัตโนมัติ โดย บริษัท อะนอร์มอล แมทเทอร์ จำกัด
  5. โครงการระบบเฝ้าระวังและควบคุมการเข้าถึงสถานีฐานระยะไกล โดย บริษัท แอคทีฟ อินเทลลิเจนซ์ จำกัด

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ดีป้า จะสานต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทของทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงขั้นตอนการขอจดสิทธิบัตรดิจิทัล ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความตระหนักการรับรู้ถึงสถานการณ์ และความสำคัญของการจดสิทธิบัตรด้านดิจิทัล พร้อมเพิ่มบริการที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญการจดสิทธิบัตรด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาระบบนิเวศน์ของการจดสิทธิบัตรด้านดิจิทัล อาทิ การจัดทำพื้นที่ One Stop Service ที่ให้คำปรึกษาระหว่างผู้ยื่นขอ ที่ปรึกษา และ ดีป้า อีกทั้งเพิ่มโอกาสให้บุคคลธรรมดาสามารถยื่นขอรับการส่งเสริม เพื่อกระตุ้นการสร้างสิทธิบัตรด้านดิจิทัล และเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศต่อไป