ทำไมเราต้องปกป้อง “ข้อมูลส่วนบุคคล” ของตัวเอง ? การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล เมื่อให้ใครไปแล้ว เขาจะต้องเอาไปใช้ตามวัตถุประสงค์และความจำเป็น นั่นคือ การนำไปใช้เท่าที่บอกว่าจะใช้ ไม่เอาไปใช้งานอื่นเกินเลย และเมื่อมีข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว จะต้องเก็บรักษาและใช้อย่างปลอดภัย ไม่สามารถเผยแพร่ต่อให้คนอื่นได้ ถ้าไม่ได้ถามเจ้าของข้อมูลก่อน และในฐานะเจ้าของข้อมูล สามารถบอกเลิกการครอบครองข้อมูลนั้นได้
การประมวลผลข้อมูล หรือ Data Processing คือการประมวลผลข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้มาผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ได้คำตอบหรือรูปแบบบางอย่าง เช่น การนำข้อมูลมาใช้ในการตลาด ทำให้เราได้ข้อมูลพฤติกรรมการบริโภค ความถี่ในการซื้อสินค้า การหารูปแบบของพฤติกรรม การคาดการณ์แนวโน้มของตลาด ความนิยมในการบริโภคสินค้า ฯลฯ
ข้อมูลส่วนบุคคลสามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง
การนำข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็น อายุ เพศ รายได้ ฯลฯ ก็จะมีการนำมาประมวล ซึ่งมีการเก็บข้อมูลแบบนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่การออกแบบประเภทบัตรเครดิต การออกประเภทประกันภัย และอีกมากมาย ทั้งนี้เพื่อออกแบบสินค้าและบริการที่ตรงกับกลุ่มลูกค้า
การให้บริการแอปพลิเคชันของโทรศัพท์มือถือและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จะมีการเก็บข้อมูลการใช้บริการของเรา ไม่ว่าจะเป็นทั้งประเภทกีฬาที่ชอบเล่น อาหารที่ชอบค้นหา ข่าวที่สนใจ และอื่น ๆ ทำให้ผู้ให้บริการสามารถให้บริการที่ตรงกับความสนใจของเราได้มากขึ้น
แต่ถึงอย่างนั้นข้อมูลของเราก็อาจจะถูกนำไปใช้ในทางไม่ดีได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การเอาเลขบัตรประจำตัวประชาชนไปสวมรอย การถ่ายรูป แชร์ภาพบนโซเชียลมีเดีย อาจเป็นการนำขโมยเข้าบ้าน หรือลูกถูกลักพาตัวไปได้ หรือการให้เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวเพื่อดูดวง เป็นการเปิดช่องให้ผู้ไม่หวังดีเอาข้อมูลของเราไปใช้ในทางที่ผิด
ข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองควรดูแลอย่างไร
ต้องรู้ว่าข้อมูลที่เราให้ไปมีอะไรบ้าง โดยเฉพาะการเข้าไปใช้งานแอปพลิเคชันหรือบริการออนไลน์ต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ผ่านบัญชีของโซเชียลมีเดีย อาจเป็นการให้ข้อมูลที่มากเกินกว่าผู้ให้บริการจำเป็นต้องใช้
ต้องรู้ว่าข้อมูลที่เปิดเผยนั้นเปิดเผยต่อใคร อาจจะเป็นข้อความในโพสต์ของเราเปิดเป็นแบบสาธารณะ (Public) หรือ เปิดให้เพื่อนเห็นได้เท่านั้น (Friends Only) ทั้งนี้จะทำให้เราเลือกข้อมูลได้ดีขึ้น ซึ่งทำให้เราควบคุมตัวตนและความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ได้ดีขึ้น
ต้องอย่าลืมว่าข้อมูลส่วนตัวสามารถนำมาระบุตัวตนย้อนกลับมาที่เราได้ โดยเฉพาะข้อมูลที่สำคัญอย่างหมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขหนังสือเดินทาง (Passport) หรือแม้กระทั่งหมายเลขโทรศัพท์มือถือ จะให้ใครหรือจะนำไปใช้อะไรให้พิจารราให้ดีก่อน
ข้อมูล : enablerspace.com และ etda.or.th